องค์กร
31 สิงหาคม 2022 องค์กร
บริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด ร่วมกับ สถาบันพลาสติก จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย PPP Plastics กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทยและเครือข่ายพันธมิตร จัดงานแถลงผลความสำเร็จกิจกรรม Siam Pieces โครงการพัฒนาแบบแผนธุรกิจ (Business Model) สำหรับการบริหารจัดการขยะพลาสติกหลังการใช้ ในพื้นที่เขตเมืองชั้นใน เพื่อสร้างต้นแบบการจัดการขยะพลาสติกอย่างยั่งยืน ตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน
(Circular Economy) อันจะนำไปสู่การพัฒนาแบบแผนธุรกิจ (Business Model) ในห่วงโซ่ธุรกิจผ่านการศึกษาวิจัยพฤติกรรมจากกลุ่มตัวอย่างของผู้บริโภคในพื้นที่เขตปทุมวัน โดยมีเป้าหมายที่จะพัฒนาแบบแผนธุรกิจในการนำขยะพลาสติกทุกชนิดกลับสู่กระบวนการรีไซเคิลอย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมสร้างโมเดลศูนย์คัดแยกที่มีศักยภาพในการจัดเก็บขยะพลาสติกทุกประเภท รวมถึงการคัดแยกประเภทวัสดุที่รีไซเคิลได้อื่น ๆ ซึ่งจะเป็นแนวทางสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนให้เกิดวัฏจักรของการบริหารจัดการขยะพลาสติกอย่างยั่งยืนได้อย่างแท้จริง
นางสาวนราทิพย์ รัตตประดิษฐ์ ประธานบริหารสายงานปฎิบัติการ บริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด กล่าวว่า
ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา สยามพิวรรธน์ยึดหลักแนวคิดในการประกอบธุรกิจที่ต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคม คำนึงถึงผู้คน สังคม และการรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม ซึ่งถือเป็นกลไกสำคัญที่บรรจุไว้ในแผนการดำเนินงานหลักขององค์กรด้วยกลยุทธ์ “ร่วมกันรังสรรค์และการสร้างคุณค่า สร้างประโยชน์ร่วมกันทุกฝ่าย” บริษัทฯ มีนโยบาย และการวางแผนแนวทางปฏิบัติในการดำเนินโครงการให้ครอบคลุมทุกมิติ และโดยเฉพาะด้านสิ่งแวดล้อม สยามพิวรรธน์ยังให้ความร่วมมือกับพันธมิตรต่างๆ ทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชนควบคู่กันไปเพื่อร่วมดำเนินโครงการที่ส่งเสริมแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน ลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและลดภาวะโลกร้อน เพื่อนำไปสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนร่วมกันในอนาคตอีกด้วย”
สยามพิวรรธน์ได้ผนึกกำลังร่วมกับสถาบันพลาสติก จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย PPP Plastics และกลุ่มบริษัท
ดาว ประเทศไทย ด้วยเป้าหมายสำคัญที่จะช่วยต่อยอดแนวคิดพัฒนาแบบแผนธุรกิจ (Business Model)
การบริหารจัดการขยะพลาสติกในสังคมเมือง และจากผลการวิจัยที่เกิดขึ้นนี้ยังเชื่อมโยงไปสู่แผนธุรกิจที่สามารถนำไปใช้กับพื้นที่อื่นสำหรับการบริหารจัดการกับขยะพลาสติกหลังการใช้ให้เหมาะสมต่อไปได้อีกในอนาคต
“วันสยามได้รับการคัดเลือกให้เป็นพื้นที่เป้าหมายในการศึกษาพฤติกรรมการทิ้งขยะของลูกค้าและประชาชน
ซึ่งได้ดำเนินการผ่านกิจกรรมต่างๆ มาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เมื่อกลางปี 2564 เริ่มตั้งแต่การเก็บข้อมูลผ่านแบบสอบถามเพื่อนำมาวิเคราะห์มุมมองของผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสีย นำมาเติมเต็มในการออกแบบ Business Model, การทดลองด้านเศรษฐศาสตร์เชิงพฤติกรรมด้วยการตั้งวางถังสำหรับแยกขยะพลาสติกตามจุดต่างๆ ภายในสยามพารากอนเพื่อศึกษารูปแบบการทิ้งขยะของลูกค้าและประชาชน, การจัดนิทรรศการให้ความรู้และกิจกรรมเสวนา ตลอดจนจัดการแข่งขันออกแบบ Business Model เปิดโอกาสให้นิสิต นักศึกษา ร่วมนำเสนอความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมในการช่วยแก้ไขปัญหาขยะพลาสติก โดยผลลัพธ์ที่ได้ทั้งหมดจะนำไปสู่รูปแบบโมเดลทางธุรกิจในการนำขยะพลาสติกทุกชนิดกลับเข้าสู่ระบบการผลิตและการนำกลับมาใช้ประโยชน์ด้วยวิธีการต่างๆ เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนได้อย่างเป็นรูปธรรมต่อไป ในนามบริษัทสยามพิวรรธน์ ขอขอบคุณทุกภาคส่วนที่ร่วมกันทำให้โครงการศึกษาวิจัยครั้งนี้ประสบความสำเร็จไปด้วยดี และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าประโยชน์ที่ได้รับจากโครงการนี้จะนำไปสู่ก้าวต่อไปที่จะเป็นต้นแบบของแผนธุรกิจในรูปแบบใหม่ของการบริหารจัดการขยะพลาสติกอย่างยั่งยืนตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำในห่วงโซ่คุณค่าทั้งระบบ”
นายวีระ ขวัญเลิศจิตต์ ผู้อำนวยการสถาบันพลาสติก กล่าวว่า สถาบันได้จัดกิจกรรมแถลงความสำเร็จโครงการศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภคเพื่อพัฒนาแบบแผนธุรกิจ (Business Model) สำหรับการบริหารจัดการขยะพลาสติกหลังการใช้โดยใช้แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ในพื้นที่เขตเมืองชั้นใน เพื่อสร้างต้นแบบการจัดการขยะพลาสติกอย่างยั่งยืน ตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนอันจะนำไปสู่การพัฒนาแบบแผนธุรกิจ
(Business Model) ในห่วงโซ่ธุรกิจผ่านการศึกษาวิจัยพฤติกรรมจากกลุ่มตัวอย่างของผู้บริโภคในพื้นที่เขตปทุมวัน โดยได้รับทุนสนับสนุนโครงการจาก บพข. (หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ) ภายใต้สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ หรือ สอวช.
โดยได้เริ่มจัดตั้งโครงการในปี 2564 จนได้ผลสำเร็จในปีนี้
นอกจากนี้ สถาบันพลาสติกยังได้จัดทำแอปพลิเคชั่นสำหรับการซื้อขายขยะพลาสติกรวมไปถึงขยะรีไซเคิลประเภทต่างๆ โดยมีการทำงานที่ง่ายและสะดวก เพื่อสนับสนุนให้คนทั่วไปสามารถคัดแยกขยะและสร้างมูลค่าขยะได้ด้วยตนเอง โดยภายในแอปพลิเคชั่นผู้ใช้สามารถลงประกาศขายขยะพลาสติกหรือขยะรีไซเคิลที่ตนเองต้องการจะขายลงในแอปพลิเคชั่น และหลังจากนั้นจะมีผู้ที่ต้องการซื้อมาติดต่อและดำเนินการซื้อขายในแอปต่อไป
ผลการศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภคถึงปัจจัยและแรงจูงใจที่ส่งผลต่อการคัดแยกขยะ รวมกับผลของแบบแผนธุรกิจในการจัดการขยะและแอปพลิเคชั่นที่พัฒนามาแล้วนั้น จะสามารถทำให้ขยะพลาสติกจำนวนมากถูกนำกลับเข้าระบบอีกครั้งและสร้างการจัดการขยะได้อย่างยั่งยืนต่อไป
ศาสตราจารย์ ดร.พิสุทธิ์ เพียรมนกุล เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า โครงการนี้
มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อพัฒนาแบบแผนธุรกิจในการนำพลาสติกกลับมาใช้ใหม่อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมสร้างโมเดลต้นแบบที่มีศักยภาพในการจัดเก็บพลาสติกทุกประเภท โดยมีพื้นที่ศึกษา คือ พื้นที่วันสยาม ซึ่งได้ดำเนินการศึกษาวิจัยตลอดทั้ง Value chain ของการจัดการพลาสติก และจัดทำข้อสรุปของผลการวิจัยออกมาในรูปแบบของ คู่มือการบริหารจัดการขยะพลาสติกสำหรับศูนย์การค้า เพื่อให้สะดวกต่อการที่ศูนย์การค้าหรือพื้นที่ที่มีรูปแบบใกล้เคียง ในการนำแนวทางที่ได้สรุปจากการวิจัยนี้ไปประยุกต์และปรับใช้อย่างเหมาะสมตามบริบทของพื้นที่ ตลอดจนส่งต่อแนวคิดให้ผู้คนในสังคมร่วมกันตระหนักถึงความสำคัญของวิกฤตขยะพลาสติกในปัจจุบัน
ความเข้าใจถึงผลกระทบทางบวกที่เกิดขึ้นจากการจัดการพลาสติกอย่างเหมาะสม ซึ่งจะเป็นแนวทางสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนให้เกิดวัฏจักรของการบริหารจัดการพลาสติกใช้แล้วที่ยั่งยืนได้อย่างแท้จริงตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน
GALLERY